ธรรมชาต

ธรรมชาติที่มีคุณค่าทางวิทยาการ และสุนทรียภาพที่เกี่ยวข้องเป็นสัณฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์ อันเป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ได้ การจัดกลุ่มธรรมชาติสามารถจัดตามลักษณะและคุณสมบัติอย่างกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่     

     1.1.1 ธรรมชาติที่มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูคืนสู่สภาพเดิมได้โดยระบบของตัวเอง เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และอุทยานต่างๆ เป็นต้น
    1.1.2 ธรรมชาติที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง หรือฟื้นฟูคืนสู่สภาพเดิมได้เมื่อถูกทำลายก็จะหมดสภาพไป เช่น ภูเขา ถ้ำ น้ำตก เกาะ แก่ง หาดทราย หาดหิน ทะเลสาบ หนอง บึง และแหล่งที่มีซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น

ในปัจจุบันมีการทำลายสภาพธรรมชาติทั้งสองประเภทเป็นอันมาก ในส่วนของธรรมชาติประเภทแรก มีกฎหมายคุ้มครอง มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล โดยตรงและดำเนินการอยู่ตลอดมา แต่ธรรมชาติในประเภทที่สองนั้น ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงและปรากฏมีเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการบุกรุกทำลายอยู่เนืองๆ จึงสมควรที่จะได้รับการคุ้มครองโดยตรง เพราะเหตุว่าธรรมชาติในความหมายนี้เป็นทรัพย์สมบัติของประเทศที่มี ศักยภาพและมีโอกาสที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่มิได้นำมาใช้โดยถูกวิธีและเหมาะสม กลับตกอยู่ใน สภาพถูกทำลายโดยมิได้มีการอนุรักษ์กันแต่อย่างใด
     
     1.2 สภาพปัญหาและการถูกทำลาย
  
       1.2.1 สภาพปัญหา ปัจจุบันแหล่งธรรมชาติหลายแห่งได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวโดยขาดการวางแผนการจัดการ มีการนำมาใช้ประโยชน์จนเกินขีดความสามารถของแหล่งที่จะรองรับได้ การขาดหน่วยงานที่จะเข้าไปดูแลรักษาและบางครั้งผู้มีหน้าที่ดูแลรักษา ก็ขาดความรู้ความเข้าใจทำให้แหล่งธรรมชาติที่มีอยู่ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจนไม่อาจฟื้นฟูได้                                         
     1.2.2 สาเหตุ สาเหตุที่ความงามของธรรมชาติถูกทำลาย มี 2 ประการ 1) การถูกทำลายโดยสภาวะทางธรรมชาติ เช่น ถูกแดด ฝน ลม หรือรากไม้ ทำให้เกิดการแตกแยก ผุพัง การถูกทำลายโดยสภาวะทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยากจะบรรเทาได้ด้วยการบำรุงรักษา แต่การทำลายโดยวิธีนี้ เป็นไปทีละน้อยใช้เวลาเป็นร้อยปี พันปี 2) การถูกทำลายโดยการกระทำของมนุษย์ เป็นการทำลายที่รุนแรงและรวดเร็ว สาเหตุแห่งการทำลายมี หลายประการ เป็นต้นว่า ความต้องการนำธรรมชาติมาใช้ เช่น การระเบิดหิน การทำเหมืองแร่ การบุกรุกการก่อสร้าง หรือการทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การระเบิดหินเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ แต่ละปีมีประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร การระเบิดและย่อยหินบางแห่งได้ทำในบริเวณที่ควรอนุรักษ์ เช่น เขางู เขาถ้ำพระ จังหวัดราชบุรี เขาเจ้าลาย จังหวัดเพชรบุรี และเขาแก้ว-เขาหน่อ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น

กลับหน้าหลัก