ปลาเทพา

ปลาเทพา (อังกฤษ: Chao Phraya giant catfish) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius sanitwongsei อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae) มีส่วนหัวและปากกว้างกว่าปลาในสกุลเดียวกันและชนิดอื่น ๆ มีฟันแหลมคม รูปร่างป้อม ลำตัวลึก ส่วนหลังยกสูงปลายครีบหลัง ครีบอก ครีบท้องยื่นเป็นเส้นยาว ครีบหางเว้าลึก เมื่อว่ายน้ำจะตั้งชั้นเหมือนปลาฉลาม ปลาวัยอ่อนมีสีเทาคล้ำ ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำแนวเฉียง ท้องสีจาง ครีบมีแต้มสีดำ ปลาตัวเต็มวัยมีลำตัวสีเทาคล้ำ ท้องสีจาง ครีบสีคล้ำ ครีบก้นตอนหน้ามีแถบสีคล้ำตามแนวยาว ครีบหางมีแถบสีจางตามแนวยาวทั้ง 2 แฉก มีขนาดประมาณ 1 - 1.25 เมตร ใหญ่สุดพบยาวได้ถึง 3 เมตร

พบเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงเท่านั้น ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหายากในแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วโดยวิธีการผสมเทียม ปลาวัยอ่อนกินปลาเล็กเป็นอาหาร ปลาวัยโตกินซากสัตว์อื่น และปลาเล็ก เนื้อมักถูกนำมาขายแทนเนื้อปลาบึก (Pangasinodon gigas) ซึ่งหายาก และมีราคาแพงกว่า นอกนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาพิการที่ลำตัวสั้นกว่าปกตมีราคาสูงมาก

โดยมีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "เลิม"

ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาเทพานั้น ตั้งขึ้นโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก เพื่อเป็นเกียรติแด่ ม.ร.ว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ ในฐานะเป็นผู้ผลักดันและบุกเบิกให้มีหน่วยงานทางด้านการศึกษาและจัดการสัตว์น้ำในประเทศ ซึ่งก็คือกรมประมงในปัจจุบัน

กลับเมนูปลาน้ำจืด